Bangpakok Hospital

โรคไข้รากสาดใหญ่ อันตรายที่สายแคมป์ปิ้งต้องระวัง

24 ธ.ค. 2564


ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น นักท่องเที่ยวอยากจะไปกางเต้นท์สัมผัสอาการเย็น จึงเริ่มจัดทริปนอนบนดอย ตั้งแคมป์ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศมาสัมผัสอาการบริสุทธิ์ ชมทะเลหมอกสวยๆ ในป่าเขา จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด ซึ่งจะทำให้ติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ได้

โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ Scrub typhus เกิดจากการโดนตัวไรอ่อนกัด โดยตัวไรอ่อนจะชอบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ และพุ่มไม้เตี้ยๆ จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยจะไต่ตามยอดหญ้าและกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าและกัดผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่จะโดนกัดโดยไม่รู้ตัว

สถานการณ์ โรคไข้รากสาดใหญ่ ในปี 64 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 27 ต.ค. 64 พบผู้ป่วย 2,506 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งภาคเหนือเป็นภาคที่พบผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 1,246 ราย ดังนั้นหากต้องเดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์นอนในป่า ควรเตรียมสิ่งของที่จำเป็นเพื่อป้องกันตัวไรอ่อนกัด และควรศึกษาวิธีป้องกัน รู้อาการเบื้องต้นของโรคเพื่อที่เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

โรคไข้รากสาดใหญ่คือ
โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) มีตัวหมัด ไร เห็บ และเหาเป็นพาหะนำโรค เมื่อถูกกัดจะได้รับเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้รากสาดใหญ่ หากมีการเกาบริเวณที่ถูกกัดจะทำให้ผิวหนังเปิด จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้นและเชื้อแบคทีเรียจะแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ชนิดของโรคไข้รากสาดใหญ่
- ชนิดที่มีเหาเป็นพาหะ
- ชนิดที่มีหมัดหนูเป็นพาหะ
- ชนิดที่มีตัวไรเป็นพาหะ

อาการ
หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย บริเวณที่ถูกกัดจะมีผื่นแดงเล็กๆจะค่อยๆนูนหรือใหญ่ขึ้น แผลคล้ายบุหรี่จี้ ไม่ปวดไม่คัน ในบางรายสามารถหายได้เอง

ภาวะแทรกซ้อน
- โรคตับอักเสบ
- ปอดอักเสบ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ
- ภาวะที่มีการแข็งตัวของก้อนเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย
- การทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลว

การป้องกัน
โรคไข้รากสาดใหญ่ จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงของการติดเชื้อ คือการเลี่ยงการสัมผัสหรือถูกตัวไรอ่อนกัด ซึ่งมีวิธีป้องกันดังนี้
1. ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีพืชพรรณและพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยพุ่มไม้หรือต้นไม่ขนาดเล็ก เพราะเป็นที่ที่ตัวไรอ่อนชอบอาศัยอยู่
2. ใช้สารไล่แมลงที่มีส่วนประกอบของสาร DEEF 20-30% หรือสารที่ได้รับการรับรองว่าใช้สำหรับต่อต้านตัวไรอ่อน และหมั่นทาทุก 4-6 ชั่วโมง ทั้งแบบที่ใช้กับผิวหนังและเสื้อผ้า
3. สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิดทั้งแขนและขา หรือคลุมรถเข็นเด็ก เตียงนอนด้วยมุ้ง
4. หากต้องใช้ครีมหรือโลชั่นป้องกันแสงแดด ควรใช้กันแดดก่อนค่อยทาสารไล่แมลง
5. ทุกครั้งที่อาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ควรสำรวจร่างกายตัวเองว่ามีผื่น แผลหรือแมลงเกาะตามตัวหรือไม่
6. หลังกลับจากการเดินป่า ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะตัวไรอ่อนอาจติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้

หากเที่ยวจากการเดินป่า ตั้งแคมป์กลับมาแล้วมีไข้ หรือมีอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็วสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.