Bangpakok Hospital

โลหิตจางขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไรให้ปลอดภัย

9 ธ.ค. 2564



โลหิตจางเป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินต่ำกว่าค่าปกติ สำหรับผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ ค่าปกติจะประมาณ 14 กรัมต่อเดซิลิตร ถ้าค่าต่ำกว่า 11 กรัมต่อเดซิลิตร จัดว่าเป็นโรคโลหิตจาง หากในระหว่างตั้งครรภ์ฮีโมโกลบินต่ำกว่า 10 กรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าคุณแม่กำลังเกิดภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์

ซึ่งขณะตั้งครรภ์ ภายในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองพัฒนาการของทารก รวมถึงระบบเลือดที่พยายามสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้น แต่หากร่างกายมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ จะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะโลหิตจางได้

ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์เป็นภาวะที่คุณแม่หลายๆท่านต้องเผชิญ ดังนั้นคุณแม่ควรศึกษาสาเหตุและรู้วิธีป้องกัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของตนเองและลูกในท้อง

สาเหตุภาวะโลหิตจางของคุณแม่ตั้งครรภ์
1. รับประทานอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิกที่จำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
2. สูญเสียเลือดขณะตั้งครรภ์ เช่น มีภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้เลือดออกช่องคลอด หรือมีการเสียเลือดจากพยาธิปากขอ
3. มีพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงของโรคธาลัสซีเมีย

อาการโลหิตจาง
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามือ ใจสั่นและเหนื่อยง่าย

ผลกระทบจากภาวะโลหิตจาก
1. เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
2. น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์
3. เกิดภาวะโลหิตจางในเด็ก
4. พัฒนาการล่าช้า
5. มีความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง

วิธีดูแลเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นภาวะโลหิตจาง
1. คุณหมอจะเสริมธาตุเหล็กเพื่อช่วยลดอาการ และทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น ทำให้การนำอาหารไปยังทารกดีขึ้น
2. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ถั่ว งาดำ ผักใบสีเขียว เนื้อสัตว์ต่างๆเช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ไก่ ไข่แดง
3. รับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยการดูดซึมของธาตุเหล็กให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง

การป้องกัน
ก่อนการตั้งครรภ์ควรตรวจเช็คร่างกายตรวจหาภาวะโลหิตจาง หากเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย ควรมีการตรวจคัดกรองว่าลูกมีความเสี่ยงหรือไม่ โดยการตรวจเลือดของพ่อและแม่

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.