Bangpakok Hospital

ดูแลครรภ์ให้ปลอดภัย จากภาวะแท้งคุกคาม

8 ธ.ค. 2564



การแท้งคุกคาม คือการแท้งบุตรประเภทหนึ่ง มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดโดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิดออกและอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย

ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ อาจทำให้ไม่ได้ระวังตัวหรือดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่โดยที่ไม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ หรืออาจเกิดจากภาวะแท้งคุกคามเนื่องจากความผิดปกติของโครโมโซม ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนที่ปกติได้

ดังนั้นหากมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยร่วมด้วยควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที และสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงของภาวะแท้งคุกคามได้ด้วยการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สาเหตุของการแท้งคุกคาม

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เลือดออกขณะตั้งครรภ์และนำไปสู่ภาวะคุกคาม เช่น
1. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก โดยพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากมีโอกาสเกิดภาวะแท้งคุกคามมากกว่า เช่น อายุเกิน 35 ปี จะมีโอกาสแท้ง 15% อายุ40 ปีขึ้นไป มีโอกาสแท้งมากกว่า 30%
2. คุณพ่อมีอายุมากเกินไป
3.คุณแม่ตั้งครรภ์มีประวัติเคยแท้งเองมาก่อน จะเกิดความเสี่ยงในการแท้งในครั้งต่อไปประมาณ 20% และจะเพิ่มเป็น 28% และ43% หากมีประวัติการแท้งมาแล้ว
4. ได้รับอุบัติเหตุในขณะตั้งครรภ์บริเวณท้องน้อย ทำให้การฝั่งตัวของทารกที่ผนังมดลูกไม่ดีพอ
5. ความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน หรือเกิดความผิดปกติของโครงสร้างตัวอ่อนแต่กำเนิด
6. ความผิดปกติรูปร่างหรือความผิดปกติของมดลูก โพรงมดลูด ปากมดลูก เช่น คุณแม่มีมดลูกผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
7. คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคเรื้อรังที่คุมอาการไม่ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง

การรักษา

ภาวะแท้งคุกคามจะยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะดูแลรักษาภาวะแท้งคุกคามจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ ลดการทำกิจกรรมที่กระทบต่อครรภ์ให้น้อยที่สุด งดการทำงานหนัก งดการเดินหรือยืนนานๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ลดความเครียดและความวิตกกังวล

การดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะแท้งคุกคาม

1. พักผ่อนให้มากๆ งดทำงานหนักทุกชนิด เช่น ยกของหนัก เดินหรือยืนนานๆ
2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงงดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
3. งดการมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างที่มีเลือดออกทางช่องคลอด
4. สังเกตปริมาณของเลือดที่ออก ซึ่งปริมาณของเลือดที่ออกต้องน้อยลงเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด แต่ถ้าเลือดออกมาขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที
5. สังเกตสีของเลือด หากเลือดออกเป็นสีดำ แปลว่าเป็นเลือดเก่าที่ค้างอยู่ แต่ถ้าเป็นสีแดงสด แปลว่าเป็นเลือดใหม่ที่กำลังลอกตัว ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเช่นกัน
6. สังเกตอาการปวดท้อง หากมีอาการปวดท้องน้อย ในลักษณะปวดบีบๆ เหมือนปวดประจำเดือน ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เพราะมดลูกบีบตัวถุงน้ำคร่ำก็จะถูกบีบให้หลุดออกมาด้วย

วิธีป้องกันการแท้งคุกคาม

1. งดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
2. รับประทานวิตามินที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ
3. รักษาและควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดี
4. พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด
5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆ
6. ไม่ยกของหนักในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
7. ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์และฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.