Bangpakok Hospital

ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายที่คุณแม่ต้องรู้

19 พ.ย. 2564



การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของผู้หญิงอีกช่วงหนึ่ง คุณแม่ทุกคนล้วนต้องการให้ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรง คลอดง่าย และย่อมไม่อยากมีภาวะที่ชวนให้กังวัลใจ โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ โดยมักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ซึ่งในคุณแม่ 100 คน จะมีคุณแม่ครรภ์เป็นพิษถึง 4 คน โดยที่มี 80% อาการไม่รุนแรง และอีก 20% จะมีอาการรุนแรงมาก ซึ่งครรภ์เป็นพิษมักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจและสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที

ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดจาก
ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงหลังคลอด สาเหตุการเกิดนั้นยังไม่แน่ชัด โดยมีข้อสมมติฐานต่างๆดังนี้
1. เกิดจากรกทำงานผิดปกติทำให้มีสารบางชนิดกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
2. เกิดจากภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวรั่วออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะ
3. เกิดจากการฝังตัวไม่แน่นของรกบริเวณผนังมดลูกทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเด็กทารกในครรภ์ไม่เพียงพอ และเกิดการหลั่งสารพิษบางอย่างเข้าสู่กระแสเลือดที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ
1. ผู้เป็นโรคอ้วน ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจตีบได้ง่าย
2. มีกรรมพันธุ์พบว่าคนในครอบครัวเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
3. ผู้ตั้งครรภ์ฝาแฝด หรือตั้งครรภ์มากกว่า 1 คน
4. ผู้ตั้งครรภ์ตอนมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
5. ผู้มีบุตรยาก
6. มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง

สัญญาณเตือนภาวะครรภ์เป็นพิษ
1. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น น้ำหนักคุณแม่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งปกติคุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม คุณแม่ที่มีอาการนี้อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัม โดยที่ไม่ได้กินอาหารเพิ่มขึ้น แต่น้ำหนักขึ้นจากการบวมน้ำ
2. บวม บริเวณหน้าแข้ง จะพบว่าเมื่อกดแล้วจะมีรอยบุ๋ม เปลือกตาบวม แหวนที่ใส่คับแน่น
3. ปวดศีรษะ บางรายจะมีอาการปวดศีรษะ เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น
4. ความดันโลหิตสูง วัดได้ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
5. จุกแน่นใต้ชายโครง หากมีเลือดออกที่ตับ หรือตับเสื่อมสภาพจะทำให้มีอาการจุกแน่นที่ใต้ชายโครงทางด้านขวาหรือบริเวณลิ้นปี่ บางรายอาจหายใจลำบาก เนื่องจากมีน้ำในปอด บางรายมีอาการตาพร่ามัว เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง
6. ลูกดิ้นน้อยลงและท้องไม่โตตามอายุครรภ์ เลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้

ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ
1. เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หากเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรง แพทย์อาจตัดสินใจให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกในครรภ์และตัวคุณแม่
2. รกลอกก่อนกำหนด รกอาจจะลอกหรือหลุดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดเลือดออกมาก ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
3. ทารกไม่เติบโตตามมาตรฐาน หากทารกรับสารที่จำเป็น เช่น สารอาหารต่างๆ ออกซิเจน ได้น้อยลง จะส่งผลให้ทารกจะมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้
4. คุณแม่ชัก เป็นอันตรายมากต่อทารกในครรภ์และคุณแม่ หากเป็นบ่อยๆแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัย
5. อวัยวะต่างๆ เกิดความเสียหาย อาจทำให้ร่างกายคุณแม่เกิดความเสียหายได้ตามระดับความรุนแรงของภาวะนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ตับ ไต

การป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ
การป้องกันนั้นไม่สามารถทำได้ แต่ยังมีการปฏิบัติที่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวให้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด ได้แก่
1. ดื่มน้ำขั้นต่ำ 6 แก้วต่อวัน
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อร่างกาย
3. สามารถออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงได้ แต่ต้องปรึกษากับทางแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ
4. ไม่ทานอาหารที่มีรสเค็มและไม่ดื่มแอลกอฮอล์
5. ทำการฝากครรภ์ เพื่อพบแพทย์และตรวจร่างกาย รวมถึงความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ตามกำหนด

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.