Bangpakok Hospital

เช็ก 10 สัญญาณเตือนไทรอยด์ผิดปกติ

19 พ.ย. 2564


ไทรอยด์เป็นพิษ คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากจนเกินไป จนเกิดสภาวะเป็นพิษและส่งผลต่อร่างกาย ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น เป็นสาเหตุให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว และมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น ผมร่วง เหงื่อออกง่าย และหงุดหงิด

โรคไทรอยด์เป็นพิษมักมีอาการคอพอก เป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้นและจะพบก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ ส่วนในบางรายจะมีอาการตาโปนร่วมด้วย และพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง อาจไม่มีอาการแสดงใดๆ ในผู้สูงอายุจะไม่ค่อยแสดงอาการอย่างชัดเจนมากนัก

ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่อันตรายและส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก และไม่สามารถป้องกันได้จะมีเพียงอาการที่เป็นสัญญาณเตือนเท่านั้น เพราะฉะนั้นควรต้องสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่ามีความเสี่ยงกับการเกิดไทรอยด์เป็นพิษแล้วหรือยัง หากมีสัญญาณเตือนดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดจะดีที่สุด

ไทรอยด์เป็นพิษมีสาเหตุมาจากอะไร?
1. Grave’s disease เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โรคนี้เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป

2. ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ พบมากในผู้สูงอายุ โดยพบก้อนเนื้อเจริญบนต่อมไทรอยด์ มักเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป

3. ต่อมไทรอยด์อักเสบ ทำให้ฮอร์โมนที่เก็บอยู่ในต่อมไทรอยด์รั่วออกมาได้

4. ได้รับไอโอดีนมากเกินไป ส่วนใหญ่พบได้ในยาบางชนิด สาหร่ายทะเล อาหารทะเล หากมีการบริโภคไอโอดีนเกิดความจำเป็นจะทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติ

5. ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์ ที่รับประทานยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป

10 สัญญาณเตือนไทรอยด์ผิดปกติ
1. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจ จะทำให้รู้สึกใจสั่นง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง
2. ผมร่วงผิดปกติ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้ผมเส้นบางและเล็กลง หลังจากนั้นจะร่วงง่าย
3. น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลง แบบผิดปกติ เพราะต่อมไทรอยด์ผิดปกติในลักษณะหลั่งฮอร์โมนออกมามากจะกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมให้ขยันเกินไป ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย เนื่องจากการเผาผลาญต่ำลง
4. นอนไม่ค่อยหลับ ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกินไป ไทรอยด์ฮอร์โมนที่มีมากจะกระตุ้นการทำงานของระบบปราสาทส่วนกลาง ทำให้รบกวนการนอนได้
5. รู้สึกง่วงตลอดเวลา หากต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนจะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น รู้สึกง่วงตลอดเวลา คิดช้า และไม่มีสมาธิ
6. รู้สึกหนาวตลอดเวลาหรือขี้ร้อนมากขึ้น ต่อมไทรอยด์ไม่หลังฮอร์โมนออกมาในปริมาณเพียงพอ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายก็จะลงน้อยลง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีอาการขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ ส่วนภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีอาการขี้หนาวมากขึ้น
7. ตาโปน ในคนไข้โรคไทรอยด์เป็นพิษอาจมีอาการระคายเคืองตา น้ำตาไหลง่าย ดูคล้ายว่าตาโปน แต่จริงๆแล้วอาจเป็นเพราะหนังตาปิดตาขาวได้น้อยกว่าปกติ
8. ขับถ่ายไม่เป็นปกติ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลให้ลำไส้ทำงานหนักมากขึ้น ลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ จึงขับถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ ในขณะที่ภาวะไทรอยด์ต่ำจะส่งผลตรงข้ามกันคือทำให้มีอาการท้องผูก
9. ประจำเดือนมาผิดปกติ ในผู้หญิงที่มีภาวะไทรอยด์สูงกว่าปกติหรือต่ำกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดประจำเดือนขาดหรือมามากผิดปกติได้ แต่เมื่อรักษาให้ฮอร์โมนไทรอยด์คงที่แล้วประจำเดือนก็จะเริ่มกลับมาปกติอีกครั้ง
10. ผิวแห้ง ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลง ส่งผลให้ผิวแห้งมากขึ้นหรือเหงื่อลดน้อยลง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ เช่น

1. ปัญหาสายตา พบได้ในผู้ป่วยโรคเกรฟวส์เท่านั้น ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยปัญหาสายตาที่เป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ตาแห้ง ตาไวต่อแสง เห็นภาพซ้อน โดยส่วนใหญ่อาการทางสายตาจะดีขึ้นเมื่อโรคไทรอยด์เป็นพิษได้รับการรักษา
2. ปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษก็คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดปกติที่เกิดจากการสั่นที่หัวใจห้องบน ซึ่งเกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่พอ
3. ภาวะไทรอยด์ต่ำ การรับการรักษาไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้ระดับฮอร์โมนต่ำกว่าปกติจนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น หนาว เหนื่อยง่าย น้ำหนักผิดปกติ
4. กระดูกเปราะบาง หากไม่ได้รับการรักษาสามารถส่งผลเสียต่อมวลกระดูกทำให้กระดูกอ่อนแอ หรือกลายเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากไป ส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมของกระดูกได้
5. ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต จะมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ท้องเสีย อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง และอาจถึงขั้นหมดสติได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ได้แก่ การติดเชื้อ การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การตั้งครรภ์

ต่อมไทรอยด์มีความสำคัญต่อระบบต่างๆในร่างกาย ดังนั้นเราควรดูแลต่อมไทรอยด์ด้วยการออกกำลังหายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่ปรุงสุกครบ 5 หมู่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ หากพบความปกติข้างต้น ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.