Bangpakok Hospital

อาการนอนกรนในเด็ก เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

2 พ.ย. 2564


การนอนหลับอย่างมีคุณภาพมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ของเด็ก เด็กอาจมีอาการนอนกรนได้บ้างเป็นครั้งคราว เช่น ขณะเป็นหวัดหรือภูมิแพ้กำเริบ ถือว่าไม่เป็นอันตรายใดๆ

หากเด็กมีอาการนอนกรนเสียงดังเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความเสี่ยงในการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดอาการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจอุดตัน จึงทำให้เด็กตื่นบ่อยและนอนหลับไม่เพียงพอ จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านต่างๆของเด็กอีกด้วย

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตอาการของลูก หากพบพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติแล้วยังไม่เข้ารับการรักษา อาจส่งผลต่อพฤติกรรมในเด็กระยะยาวได้ เช่น การเจริญเติบโตไม่สมวัย สมาธิสั้น ทางที่ดีควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและเข้ารับการรักษา

สาเหตุของการนอนกรน
การนอนกรนในเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. โรคอ้วนในเด็ก แป้งและไขมันที่รับประทานเข้าไปจะไปสะสมบริเวณหลอดทางเดินหายใจ
2. จะพบต่อมทอนซิลและเหนือต่อมอะดีนอยด์โต โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นหวัด
3. ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ เยื่อบุภายในบวมทำให้อุดตันทางเดินหายใจ
4. โรคทางสมองและกล้ามเนื้อทำงานไม่ดี มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ
5. โครงหน้าผิดปกติ เช่น คางสั้น

อาการที่สังเกตได้ว่าเกิดภาวะนอนกรน
ภาวะนอนกรนเริ่มพบได้ในเด็กวัยประมาณ 3-6 ขวบ ซึ่งอาการน่าสงสัยที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ว่าลูกอยู่ในภาวะนอนกรน และส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีดังนี้
1. นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ หายใจสะดุดติดขัด
2. นอนดื้นหรือสะดุ้งตื่นขึ้นมาระหว่างหลับ
3. มีท่านอนที่ผิดปกติ เช่น นอนคว่ำ แหงนศีรษะ เชิดคางมากกว่าปกติ
4. บางรายอาจปัสสาวะรดที่นอน
5. ปวดหัวหรืออ่อนเพลียในตอนเช้า
6. มีปัญหาการทานอาหารหรือไม่เจริญอาหาร
7. มีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว สมาธิสั้น ซนผิดปกติหรือง่วงซึมผิดปกติในเวลากลางวัน

ภาวะแทรกซ้อน
มีชนิดที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจร่วมด้วยในขณะหลับ ทำให้มีออกซิเจนในเลือดลดลง หากไม่ได้รับการรักษา หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ ระดับการเรียนรู้ต่ำลง มีสมาธิสั้น ง่วงนอนในเวลากลางวัน ปัสสาวะรดที่นอน ความดันโลหิตสูง ความดันเลือดในปอดสูง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานล้มเหลวได้


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.