อันตรายจากเสียงดัง เสี่ยงเกิดโรคประสาทหูเสื่อม
โรคประสาทหูเสื่อม หรือโรคประสาทหูดับฉับพลัน คือการที่ประสาทหูเกิดการเสื่อมทันที หรือภายในระยะเวลาสั้นๆ ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการเพียงรู้สึกได้ยินน้อยลง หรืออาจสูญเสียการได้ยินมาก
ซึ่งโรคนี้จะพบบ่อยมากในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดัง ได้แก่ งานอุตสาหกรรมโลหะ งานตัดไม้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาชีพขับรถรับจ้าง โดยมักจะมีความผิดปกติของหูทั้ง 2 ข้างมากกว่าข้างเดียว โดยปัญหาที่พบบ่อยคือ ฟังคนอื่นพูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจ เฉพาะอย่างยิ่งจะได้ยินลำบากมากขึ้นถ้าอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง
ดังนั้นผู้ที่ปฎิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางเสียง จึงควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน ถ้ารู้สึกว่ามีการได้ยินในหูลดน้อยลงอย่างเฉียบพลัน ควรรีบมาพบแพทย์ หู คอ จมูก โดยเร็ว หากได้รับการรักษาที่ช้าไป อาจเสี่ยงเกิดความพิการในหูอย่างถาวรได้
โรคประสาทหูเสื่อมที่ไม่ทราบสาเหตุอาจเกิดจาก
1. การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด , โรคงูสวัด , โรคคางทูม และโรคไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้มีการอักเสบของประสาทหูและเซลล์ประสาทหู ทำให้อวัยวะดังกล่าวทำหน้าที่ผิดปกติไป เชื้อไวรัสสามารถผ่านเข้าสู่หูในทางกระแสเลือด , ผ่านทางน้ำไขสันหลัง
2. การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงในหูชั้นใน ทำให้เซลล์ประสาทหูและประสาทหูขาดเลือด จึงทำหน้าที่ผิดปกติไป เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน หรือเซลล์ประสาทหูนั้นไม่มีแขนงจากเส้นเลือดใกล้เคียงมาช่วย เมื่อมีการอุดตันจะทำให้เซลล์ประสาทหูตาย และเกิดประสาทเสื่อมได้ ซึ่งเส้นเลือดอาจอุดตันจาก
- เส้นเลือดแดงหดตัวเฉียบพลัน เกิดจาก ความเครียด , พักผ่อนไม่เพียงพอ ,
- เส้นเลือดที่เสื่อมตามวัย แล้วมีไขมันมาเกาะตามเส้นเลือด หรือมีโรคบางโรคที่ทำให้เส้นเลือดตีบแคบมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง , โรคไขมันในเลือดสูง , โรคเบาหวาน
- เลือดข้นจากการขาดน้ำ
- มีลิ่มเลือดมาอุดเส้นเลือด อาจเกิดจากโรคหัวใจ และจากการบาดเจ็บที่อวัยวะต่างๆ
-การอักเสบของเส้นเลือด
3.การรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง อาจเกิดจากการสั่งน้ำมูกแรงๆ การไอแรงๆ หรือการที่มีความดันใส่สมองสูงขึ้น ทำให้ประสาทหูเสื่อม มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน และเสียงดังในหู
โรคประสาทหูเสื่อมที่ทราบสาเหตุอาจเกิดจาก
1.การบาดเจ็บ
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง ทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทหู เซลล์ประสาทหู หรือมีเลือดออกในหูชั้นใน
- การผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลน เพื่อให้ได้ยินดีขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของหูชั้นใน เช่น การเปลี่ยนแปลงของความกดดันของบรรยากาศ เช่น ดำนำ ขึ้นที่สูง หรือเครื่องบิน
2. เนื้องอก เช่น เนื้องอกของประสาททรงตัวที่มีการเพิ่มขนาดอย่างเฉียบพลัน เช่น มีเลือดออกในเนื้องอก จนอาจไปกดทับประสาทหู
3. การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ จากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
4. สารพิษและพิษจากยา ยาบางชนิดอาจทำให้หูตึงชั่วคราวได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของ salicylate, ยาขับปัสสาวะ หลังหยุดยาดังกล่าว อาการหูอื้อหรือหูตึงมักจะดีขึ้นและอาจกลับมาเป็นปกติ
5. โรคนำในหูไม่เท่านั้น อาจกดเบียดทำลายเซลล์ประสาทหู ทำให้ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้ มักมีอาการเสียงดังในหูหรือเวียนศีรษะบ้านหมุนร่วมด้วย
1. หลีกเลี่ยงเสียงดัง
2. ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเลือด ควรควบคุมให้ดี
3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู
4. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
5. ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และงดการสูบบุหรี่
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด
7. พักผ่อนให้เพียงพอ