Bangpakok Hospital

ข้อควรรู้ก่อนฉีด HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

1 ต.ค. 2564


มะเร็งปากมดลูกพบมากในผู้หญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และมีอัตราเสียชีวิตเกิน 50 % การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV จึงเป็นแนวทางป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ดังนั้นควรฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ในช่วงอายุ 9- 26 ปี เพราะร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากเชื้อ HPV จะติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก

โดยทั่วไปผู้ชายจะเป็นพาหะของเชื้อไวรัสและแพร่ไปสู่ผู้อื่นผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ มักจะพบการติดเชื้อในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ถ้าหากผู้ชายได้รับเชื้อไวรัสนี้ ก็อาจจะทำให้เป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศได้

ไวรัส HPV ไม่เพียงแต่จะเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ยังรวมไปถึงมะเร็งช่องคลอด ดังนั้นการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV ให้ครบตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคได้

ข้อควรรู้ก่อนฉีด HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

1. ทำไมวัคซีน HPV จึงสามารถป้องกันเราจากมะเร็งปากมดลูกได้
การเกิดมะเร็งปากมดลูกต่างจากมะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์ แต่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก เชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเซลล์บริเวณปากมดลูก ทำให้กลายเป็นเซลล์เนื้อร้าย หรือมะเร็ง การฉีดวัคซีน HPV จึงเป็นการป้องกันต่อการติดเชื้อ HPV ชนิดสำคัญได้

2. จำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนรับการฉีดวัคซีนหรือไม่
คำแนะนำของคณะกรรมการสร้างภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกานั้น ผู้หญิงที่ไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า “ แปปสเมียร์” ( Pap Smear Test) เป็นประจำและไม่พบผลผิดปกติใดๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการได้รับวัคซีน

3. วัคซีน HPV สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 100% หรือไม่
สามารถป้องกันการติดเชื้อชนิดสำคัญที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 70% ดังนั้นจึงยังมีเชื้อ HPV บางส่วนที่วัคซีนยังไม่สามารถให้การป้องกันได้ ผู้หญิงจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฉีดวัคซีนดังกล่าว ในกรณีที่ยังไม่เคยสัมผัสกับเชื้อ HPV ชนิดที่มีอยู่ในวัคซีนมาก่อน วัคซีน HPV ที่ผลิตได้สำเร็จเป็นตัวแรก และได้การรับรองใช้กว่า 80 ประเทศทั่วโลกแล้วนั้น สามารถครอบคลุมเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด ประมาณ 70% ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศประมาณ 90%

4. ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้หรือไม่
ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็ยังคงสามารถฉีดวัคซีนได้ เพียงแต่อาจจะไม่ได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันจากวัคซีน ถ้าเทียบกับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ซึ่งวัคซีนสามารถให้การป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้หลายสายพันธุ์ แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับประโยชน์จากการป้องกันการติดเชื้อในบางสายพันธุ์อื่นๆที่มีอยู่ในวัคซีนได้

5. แนะนำการฉีดวัคซีน HPV ในช่วงอายุใดจึงเหมาะสมที่สุด
วัคซีน HPV นี้จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีที่ยังไม่เคยมีการสัมผัสกับเชื้อ จึงเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในเด็ก หรือหญิงสาววัยรุ่น เป็นการป้องกันล่วงหน้าก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกา ได้รับรองการใช้ในเด็กผู้หญิงและหญิงสาวอายุ 9-26 ปี ว่าวัคซีนสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์หลักคือ 16 และ 18 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน และในอีกหลายประเทศชั้นนำมีการพิจารณาให้เป็นวัคซีนบังคับที่ใช้ในเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง อายุช่วง 11-12 ปี ซึ่งเป็นการป้องกันก่อนที่จะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อ เพราะในช่วงอายุที่พบการติดเชื้อมาที่สุดคือ 18-28 ปี และเชื้อ HPV อาจใช้เวลาในการก่อตัวนานนับ 10 ปีก่อนที่จะปรากฏอาการผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมานั้นเอง


6. วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสำหรับการฉีดในเด็กมากน้อยเพียงใด
วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นวัคซีนที่สังเคราะห์เลียนแบบโครงสร้างของเชื้อ HPV โดยที่ไม่ได้นำส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของสายพันธุกรรมของเชื้อไวรัสมาใช้ผลิตวัคซีน เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนก็จะสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อ HPV โดยอาการข้างเคียงรุนแรงพบน้อยมาก ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนในเด็กจะมีผลดีในเรื่องการตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในผู้ใหญ่

7. ถ้าอายุเกิน 26 ปี ยังสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคลในแง่ของความคุ้มค่าที่จะลดความเสี่ยงจากมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉีดวัคซีน ถ้าหากเป็นการฉีดก่อนที่จะเกิดการสัมผัสเชื้อหรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกก็จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากวัคซีน รวมทั้งการตอบสนองของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกัน ก็เหมือนกับวัคซีนอีกหลายๆชนิด

8. วัคซีนชนิดนี้สามารถฉีดในสตรีมีครรภ์หรือสตรีในระยะให้นมบุตรได้หรือไม่
ในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่พบว่าวัคซีนนี้ไม่มีอันตรายต่อเด็กที่คลอดจากแม่ที่ได้รับวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ ส่วนในระยะให้นมบุตรสามารถที่จะฉีดวัคซีนได้ หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในระหว่างที่รอฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 นั้น ควรหยุดฉีดก่อน และกลับมาฉีดเข็มต่อไปหลังจากที่คลอดโดยไม่ต้องเริ่มเข็มแรกใหม่

9. การฉีดวัคซีน HPV จะฉีดบริเวณใด และมีผลข้างเคียงหรือไม่
ในการฉีดวัคซีนเข้าที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายนั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาการเหมือนกับการได้รับวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น อาจมีไข้ต่ำๆในบางราย หรือปวดบวมเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด หลังฉีดแนะนำให้นั่งลงพักสังเกตอาการประมาณ 30 นาที

10. วัคซีน HPV ต้องฉีดทั้งหมดกี่เข็ม และป้องกันได้นานเท่าไหร่
ในการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มว่าวัคซีน HPV จะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจดจำและสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV ที่มีอยู่ในวัคซีนได้ โดยช่วงแรกที่มีการใช้วัคซีนก็ยังไม่ทราบระยะเวลาของภูมิคุ้มกันที่ชัดเจน แต่ต่อมาพบว่าภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.