ส่องกล้องมะเร็งลำไส้ ตรวจพบไว รักษาได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมักพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนักจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งสำไส้ใหญ่ได้ แต่เชื่อว่าการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารมาก ทานอาหารที่มีไขมันน้อย ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและป้องกันภาวะท้องผูก จะสามารถช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยใช้วิธีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมทางเดินอาหารประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ
และเราจะรู้ได้อย่างไร? อาการแบบไหนถึงบ่งบอกถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้? และควรมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร?
การเกิดโรคของมะเร็งลำไส้ แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ
- ระยะแรก เป็นก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณผิวของผนังลำไส้ใหญ่
- ระยะที่สอง เริ่มกระจายเข้าสู่ผนังลำไส้ใหญ่
- ระยะที่สาม ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่สี่ แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด และสมอง
ข้อบ่งชี้ของการส้องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
- มีการถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม (Abnormal Bowel Habit) เช่น ท้องผูกมากขึ้น มีท้องเสียสลับท้องผูก ถ่ายอุจจาระมีเลือดหรือมูกปน หรือท้องเสียบ่อย
- ปวดท้องด้านล่าง ปวดเบ่งอยากถ่าย หรือเป็นๆหายๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
- ตรวจพบความผิดปกติของการทำ X-Ray ลำไส้ใหญ่ (Abnormal Barlum Enema)
- มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้
- อุจจาระอาจมีลักษณะปกติ แต่ตรวจทางห้องปฏิบัติการพบมีเลือดปน (ผล Occult Blood Test ได้ผลบวก)
การเตรียมตัว ส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่ายในช่วง 3 วันก่อนตรวจ
- งดรับประทานผัก ผลไม้และอาหารที่มีเส้นใย
- รับประทานยาระบายให้ตรงตามจำนวน และเวลา ตามที่แพทย์สั่ง
- ก่อนเข้ารับการส่องกล้องต้องทำความสะอาดลำไส้โดยการงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- จะได้รับยาระบาย เพื่อให้ขับถ่ายจนลำไส้สะอาด
- แพทย์จะใช้เวลาในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ประมาณ 20 - 30 นาที แต่หากพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติอาจะใช้เวลาประมาณ 45 - 60 นาที
3 วิธีการดูลตนเองหลังการส่องกล้อง
- อาหารมื้อแรกหลังการส่องกล้อง ควรเลือกเป็นอาหารอ่อนในปริมาณไม่มาก เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก หลีกเลี่ยงอาหารมันอาหารรสจัด หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หลังทานอาหารควรลุกขึ้นเดินช้าๆ ประมาณ 10 - 15 นาที เพื่อช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น
- ในกรณีที่ได้รับการตัดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกในลำไส้ ผู้ป่วยสามาถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติในวันรุ่งขึ้น แต่ไม่ควรยกของหนัก หรือออกกำลังกายที่ต้องเกร็งหน้าท้องในช่วงสัปดาห์แรก