Bangpakok Hospital

เล็บผิดปกติ สัญญาณบอกโรค

17 ก.ย. 2564


เคยสังเกตเล็บของตัวเองบ้างไหม...ว่ามีลักษณะอย่างไร?

หากสังเกตดูดีๆ เล็บบางคนมีจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งรูปร่าง สี ความสั้น ความยาวของหน้าเล็บ และสุขภาพของเล็บก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของแต่ละคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเล็บนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาอย่างเดียว

การเปลี่ยนแปลงของเล็บไม่ว่าจะเป็น รูปร่าง สี ความหนา ความบางนั้นสามารถบ่งบอกถึงเรื่องสุขภาพของเราได้ เล็บที่ผิดปกติไปจากเดิมเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ อาจเกิดจากการติดเชื้อ สารเคมีระคายเคือง มะเร็งหรือเกิดจากโรคทางกายอื่นๆ

เพราะฉะนั้นเราต้องคอยหมั่นสังเกตดูแลสุขภาพของเล็บอย่างสม่ำเสมอ หากเล็บสุขภาพดีเป็นสีชมพูจางๆ พื้นผิวเรียบ ผิวหนังรอบเล็บแข็งแรง หากต่างจากนี้ออกไปอาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของร่างกาย

ลักษณะเล็บที่ผิดปกติ

เล็บหนาบางมากผิดปกติ มีหลายโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เชื้อราที่เล็บ ซึ่งนอกจากเล็บจะหนาขึ้นแล้ว เล็บอาจเปลี่ยนสีด้วย เช่น สีเหลือง ขาว หรือสีดำ ผิวเล็บอาจมีความขรุขระร่วมด้วย นอกจากนี้โรคสะเก็ดเงินก็อาจจะมีเล็บหนาได้ จะแตกต่างกับเชื้อที่โรคสะเก็ดเงินมักจะมีอาการเล็บหนาหลายๆเล็บ แต่โรคเชื้อรามักจะเป็นไม่กี่เล็บ

เล็บเว้าลงจนคล้านรูปช้อน (Spoon nails หรือ koilonychia) เล็บจะมีลักษณะขาวซีด อ่อน แบนบาง และแอ่นคล้ายช้อน พบในเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้สูงอายุอาจมีเล็บที่บางและเปราะแตกง่ายบริเวณปลายเล็บ บางทีเล็บก็จะโค้งไปตามอายุด้วย ซึ่งเป็นมากๆเล็บจะจิกไปในเนื้อได้ง่ายขึ้น อาจเกิดช่องใต้เล็บขึ้นมาจำให้เชื้อโรคเข้าได้ง่าย

เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระ ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ถ้าเป็นหลายเล็บ อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงินหรือโรคภูมิแพ้ แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่มีการสร้างเล็บผิดปกติ

ปลายเล็บร่น (onycholysis) ปลายเล็บร่น ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลง

เล็บเปลี่ยนสี เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บพบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง เล็บที่มีสีขาว 2 ใน 3 ของเล็บพบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและโรคหัวใจวาย เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ

ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง คนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย หรือเกิดการระคายเคืองจากสารเคมี เช่น น้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาด บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราเนื่องจากไม่รักษาความสะอาด ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง รอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.