คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3
การตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส รวมระยะเวลาตั้งครรภ์ทั้งสิ้น 9 เดือน (40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน) ซึ่งในแต่ละไตรมาสก็จะมีความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ที่แตกต่างกัน
การนับอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยแบ่งการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้เป็นการเจริญเติบโตทางโครงสร้าง และพัฒนาการเกี่ยวกับระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย
ในระหว่างการตั้งครรภ์สิ่งที่สำคัญที่คุณแม่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกๆ คือ การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และสภาพจิตใจที่สมบูรณ์ เพื่อที่จะส่งผลไปยังทารกในครรภ์ให้สุขภาพดีและแข็งแรง
คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1 (อายุครรภ์ 1-3 เดือน)
ในช่วงไตรมาสแรก 3 เดือนแรก คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด เหนื่อย เพลีย จนอยากนอนพักมากๆ เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น คัดเจ็บเต้านม น้ำหนักตัวคงที่ หรือเพิ่ม 1-3 กก. (ในรายที่ไม่แพ้ท้อง) และจะมีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะรับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้ทารกในครรภ์อาจจะไม่ได้รับสารอาหารบำรุงสมองอย่างเพียงพอคุณแม่จะเกิดภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่และวิตามิน
การเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกในช่วงไตรมาสแรก
อายุครรภ์ เดือนที่ 1
จะมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน แน่นและอืดท้อง คัดเต้านม อารมณ์จะผันผวนเหมือนก่อนมีประจำเดือน บางท่านอาจจะมีอาการเลือดออกเล็กน้อยเนื่องจากตัวอ่อนฝังตัวอาการต่างๆ
อายุครรภ์ เดือนที่ 2
เป็นระยะสำคัญที่สุดเนื่องจาก จะมีการเจริญเติบโตเร็วมาก ดังนั้นไม่ว่าการติดเชื้อไวรัส ยาที่รับประทาน หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อการเจริญเติบโต หากเด็กได้รับช่วงนี้ จะเกิดความพิการได้ เริ่มมีการสร้าง แขน ขา ตา ในช่วงสัปดาห์ที่ 7-8 จะเริ่มสร้างนิ้วมือ อาจจะได้ยินเสียงหัวใจเด็กเมื่อตรวจด้วย Ultrasound
อายุครรภ์ เดือนที่ 3
ทารกวัยนี้จะมีอวัยวะครบถ้วน เริ่มมีการขยับแขน ขา ศีรษะ อ้าปากและหุบปากได้ นิ้วเริ่มมีเล็บ แต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวเนื่องจากเด็กยังมีขนาดเล็ก แขนและมือจะมียาวกว่าขา ศีรษะเด็กจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัวหัวใจจะมี 4 ห้อง หัวใจจะเต้น 120-160 ครั้ง ไตเริ่มขับของเสียสู่กระเพาะปัสสาวะ และถูกนำออกโดยสายสะดือ เด็กในระยะนี้จะมีความยาว 4 นิ้ว
คำแนะนำ
- อาหาร ควรรับประทานอาหารปริมาณปกติเท่าก่อนตั้งครรภ์ เท่าที่คุณแม่จะสามารถรับประทานได้ หากมีอาการแพ้ท้อง จนไม่สามารถทานอาหารได้ ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ และย่อยง่าย หรือเครื่องดื่มต่างๆ เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้
- การฝากครรภ์ เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้คุณแม่และทารก ได้รับการดูแล 9 เดือน แพทย์จะให้คำแนะนำ ป้องกัน ช่วยวินิจฉัยโรคและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์
- การฉีดวัคซีน ไม่นิยมฉีดในขณะตั้งครรภ์ ยกเว้นมีความจำเป็นควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา หากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน จะฉีดวัคซีนบาดทะยัก 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ในไตรมาสที่ 1-2
- เพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ ไม่มีข้อห้ามในการมีเพศสัมพันธ์ ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงสูง เช่น เคยมีประวัติการแท้งบุตรมาแล้วหลายครั้ง หรือมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในไตรมาสแรก และในรายที่มีประวัติเคยคลอดบุตรก่อนกำหนด ควรงดเมื่อตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้าย
คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน)
ในร่างกายของลูกน้อยจะอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมและพร้อมที่จะพัฒนาเติบโตอย่างเต็มที่ต่อไป เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ขนาดของเด็กในครรภ์จะเติบโตเพิ่มเป็น 3-4 เท่า ลักษณะของเด็กทารกจะดูคล้ายคนตัวเล็กมากขึ้น ผู้หญิงส่วนใหญ่จะรู้สึกสบายกว่าเดิม เพราะอาการอ่อนเพลียคลื่นไส้ในช่วงเริ่มตั้งครรภ์จะลดลงจนเกือบกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ร่างกายปรับตัวได้ดี แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นต่อไป
การเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกไตรมาส 2
อายุครรภ์ เดือนที่ 4
ทารกช่วงนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อวัยวะทำงานได้เต็มที่ เด็กเริ่มมีลายนิ้วมือ กล้ามเนื้อจะแข็งแรงมากขึ้น ตับจะเริ่มสร้างเม็ดเลือดแดง ถุงน้ำดีเริ่มสร้างน้ำดี ฟันน้ำนมเริ่มโตใต้เหงือก ผม ขนคิ้ว ขนตายาวขึ้น เด็กจะมีการตื่นและนอนเป็นเวลา คุณแม่สามารถรู้ได้ว่าเด็กมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เด็กดูดนิ้วมือเป็น เด็กระยะนี้จะยาว 10-12 นิ้วหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม
อายุครรภ์ เดือนที่ 5
การตั้งครรภ์เดือนที่ 5 นั้นเมื่อคุณแม่ไปพบแพทย์จะตรวจเหมือนกับเดือนที่ 4 อย่าลืมจดปัญหาเพื่อไปปรึกษากับแพทย์ อาการของผู้ป่วยจะคล้ายกับเดือนที่ 4 แต่จะมีอาการมากขึ้น เช่นการเคลื่อนไหวของเด็กเพิ่มขึ้น ตกขาวเพิ่มขึ้น ปวดท้องน้อยเนื่องจากเอ็นที่ท้องตึงขึ้น ท้องผูก ปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ขาเป็นตะคริว เส้นเลือดขอด ริดสีดวงทวาร ปวดหลัง ผิวจะมีสีคล้ำขึ้น
อายุครรภ์ เดือนที่ 6
เมื่อไปตรวจตามนัดแพทย์จะตรวจเช่นเดียวกับเดือนที่ 4 อาการต่างๆที่เกิดจะเหมือนกับเดือนที่ 5 แต่จะเคลื่อนไหวมากขึ้นแข็งแรงมากขึ้น
แนะนำ
- อาหาร อาการแพ้ท้องมักจะหายไป จะเริ่มทานอาหารได้ปกติ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ธาตุเหล็ก มีในไข่แดง ตับ ผักใบเขียว ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีมากพอที่จะลำเลียงออกซิเจนจากเลือดแม่ไปสู่ลูกและแคลเซียมซึ่งช่วยในการสร้างกระดูกและฟันของลูก ซึ่งมีในนมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ควรทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน ไม่ควรได้รับมากเกินไป เพราะในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายไม่ต้องการอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเพิ่มขึ้น ต้องการเฉพาะโปรตีนเพิ่มขึ้น
- ออกกำลังกาย เป็นประโยชน์ต่อแม่ตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ระบบย่อย อาหารทำงานได้ดี ท้องไม่ผูก นอนหลับสบาย และก็ควรออกกำลังกายที่ไม่หักโหม
- ท่านอน จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ได้ ท่านอนควรตะแคงซ้าย,ขวา หรือหงาย สลับกัน เพื่อลดจุดกดทับของร่างกาย โดยอาจมีหมอนรองรับขาให้สูงขึ้น เพื่อลดอาการบวมของขาที่เกิดจากกิจกรรมในระหว่างวัน
- การตรวจเต้านม เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้นมมารดาในระยะหลังคลอด ลักษณะหัวนมที่แบนหรือบุ๋มลงไป ลานนมแข็งตึงไม่นุ่ม จะทำให้เด็กดูดไม่ได้ การตรวจด้วยตัวเองโดยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ทาบไปบนผิวหนังตรงรอยต่อระหว่างฐานของหัวนม กับหัวนม แล้วบีบเข้าหากัน ถ้าหัวนมสั้นหรือบุ๋มมากไปจนเด็กดูดไม่ได้ หัวนมจะยุบลงไประหว่างนิ้วมือทั้งสอง
คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน)
คุณแม่ใกล้คลอดท้องจะใหญ่มาก หายใจลำบาก มีอาการบวม ลุกนั่งลำบากและเหนื่อยง่าย ผู้หญิงท้องแก่แต่ละคนมีลักษณะหน้าท้องไม่เหมือนกัน แตกต่างทั้งขนาดและรูปร่างจึงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ระยะนี้คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องของความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น อาการเป็นตะคริว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีเลือดออก หรือปัญหาภาวะน้ำคร่ำ ซึ่งจำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจครรภ์ก่อนคลอดบ่อยขึ้น
การเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกไตรมาส 3
อายุครรภ์ เดือนที่ 7
คุณแม่จะรู้สึกได้ดีถึงการเคลื่อนไหวของทารก ท้องที่โตมากขึ้นทำให้คุณแม่หายใจเร็วขึ้น เพราะมดลูกที่โตจะมาดันกระบังลมทำให้หายใจได้สั้นๆเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว นอนหลับไม่ได้เต็มที่จากการที่ทารกในครรภ์จะตื่น และจะบีบรัดตัวครั้งละไม่นานเกิน 30 วินาที
อายุครรภ์ เดือนที่ 8
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 ทารกยังคงเจริญเติบโต อย่างรวดเร็วกระดูกแข็งแรงขึ้น ผิวจะเจริญเหมือนคนปกติ สมองพัฒนาเต็มที่ เส้นประสาททำงานได้เต็มที่ ตุ่มรับรสเริ่มทำงาน เด็กจะรับแสง เสียง และความเจ็บปวด ถ้าเป็นเด็กชายอัณฑะจะเคลื่อนจากช่องท้องลงถุงอัณฑะ เด็กช่วงนี้จะยาว 16-18 นิ้วหนักประมาณ 2 กิโลกรัม
อายุครรภ์ เดือนที่ 9
การตั้งครรภ์เดือนที่ 9 สมองทารกจะเจริญเติบโตเร็วมากค่ะ ตัวเด็กจะเจริญอย่างรวดเร็วพร้อมที่จะคลอด ทารกมีการกลับลงพร้อมคลอด ภูมิคุ้มกันจากแม่จะเข้าสู่ลูก เด็กจะเคลื่อนไหวมากขึ้น ปอดแข็งแรงมาก เด็กจะยาวประมาณ 20 นิ้ว หนัก 2.5-4 กิโลกรัมช่วงอายุครรภ์ 37-42 สัปดาห์เด็กสามารถคลอดได้ตลอดเวลา ระยะนี้คุณแม่ จะรู้สึกอึดอัดเพราะเด็กตัวโต และดันกระเพาะและกำบังลมทำให้แน่นท้องหายใจตื้นและเร็วอาจมีอาการจุกเสียดหน้าอก และท้องผูก
คำแนะนำ
- อาหาร ควรเพิ่มอาหารประเภทโปรตีน เช่นเดียวกับไตรมาสที่ 2 เช่น เนื้อสัตว์หรือเนื้อปลา ผักใบเขียวชนิดต่างๆ และอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ปลาตัวเล็กทานทั้งก้างได้ด้วย นมพร่องมันเนย
- การฝากครรภ์ การนัดตรวจครรภ์จะบ่อยขึ้น ในไตรมาสนี้จะมีการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูน้ำตาลและโปรตีนในปัสสาวะ เช็คความดันโลหิต ติดตามอาการบวม เพื่อตรวจหาว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่
- การดูแลเต้านม ในระยะ 2-3 เดือนก่อนคลอด ร่างกายจะขับสารจำพวกไขมันมาคลุมบริเวณหัวนมและลานนม ดังนั้นในการอาบน้ำชำระร่างกาย ไม่ควรฟอกสบู่บริเวณหัวนมมากนัก เพราะจะชะล้างไขมันบริเวณนั้นออกไปหมด ทำให้หัวนมแห้งและแตกง่าย
- ภาวะฉุกเฉิน หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล อาการท้องแข็ง หรือเจ็บครรภ์ ทุก 5-10 นาที มีมูกเลือด หรือเลือดสดๆออกทางช่องคลอด มีน้ำเดิน (น้ำใสๆ คล้ายปัสสาวะราด) ลูกดิ้นน้อยลง หรือปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ บวม เป็นต้น