ลดความเสี่ยง 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ด้วยการทานผักและผลไม้
องค์การอนามัยโลก (WHO-World Health Organization) ระบุว่า การกินผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยด้วยโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด ไขมันสูง และมะเร็ง
แต่ที่น่าสนใจคือ โรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด ไขมันสูง และมะเร็ง อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง หากติดเชื้อโควิด
ดังนั้นการกินผักและผลไม้ในช่วงโควิด ควรมีการทำความสะอาดและการเลือกกินให้ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกาย
วิธีกินผักและผลไม้ให้ปลอดภัย
1. ควรล้างผักและผลไม้ที่ซื้อมาทันทีก่อนเก็บเข้าตู้เย็น เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่อาจติดมา และยังช่วยลดสารปนเปื้อนหรือยาฆ่าแมลงอีกด้วย
2. ผักเคียงที่มาพร้อมกับอาหารนอกบ้านควรนำมาล้างอีกครั้งก่อนกินเสมอ
3. เมื่อกินอาหารนอกบ้านควรเลือกเมนูที่ปรุงสุกด้วยความร้อน เช่น ผัดผัก แกงจืดใส่ผัก แทนเมนูผักสด เช่น อาหารยำ ส้มตำ เพราะเชื้อโควิด -19 จะถูกทำลายที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส
4. ควรเพิ่มผักในเมนูอาหารทุกครั้ง เช่น ต้มยำกุ้งเพิ่มเห็ด หรือ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าพิเศษผัก เป็นต้น
5. ผลไม้เป็นแหล่งของวิตามินซีและแร่ธาตุหลายชนิด นอกจากจะเน้นความสดใหม่เพื่อสงวนคุณค่าของสารอาหารแล้ว ควรเลือกผลไม้ที่มีเปลือกหนา เช่น ส้ม กล้วย แก้วมังกร มังคุด กีวี เพราะเปลือกจะช่วยปกป้องเนื้อผลไม้จากเชื้อไว้รัสและแบคทีเรียได้
6. วางแผนเตรียมผักและผลไม้หั่นใส่กล่องเพื่อไปกินที่ทำงาน จะช่วยประหยัดและปลอดภัยจากเชื้อโรค
7. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ที่ไม่ได้คั้นเอง เพราะเราไม่รู้ถึงกระบวนการผลิตว่าปลอดภัยหรือไม่ แนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้ที่บรรจุกล่องที่ไม่หวานมากแทน หรืออาจจะปั่นน้ำผลไม้กินเอง
8. เลือกกินผักผลไม้ที่มีสีสันต่างกัน อย่างน้อยวันละ 3 สี จะทำให้ได้รับสารพฤกษเคมีหลายชนิด จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี
ความรู้จักกับสารพฤกษเคมี
สารพฤกษเคมี (Phytochemicals) เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบในพืช จะมีสี กลิ่น รสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พบมากในกลุ่มผลไม้ 5 สี ที่ให้สารพฤกษเคมีเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้แตกต่างกัน
1. ผลไม้สีแดง / ชมพูอมม่วง
มีสารไลโคปีน (Lycopene) และบีทาเลน (Betalain) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง และทำให้หัวใจแข็งแรง พบได้ในแตงโม มะเขือเทศ แก้วมังกรเนื้อชมพู บีทรูท สตรอเบอรี่ ฝรั่ง และมะละกอเนื้อแดง
2. ผลไม้สีเขียว
นอกจากมีสารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) แล้ว ยังมีสารลูทีน (Lutin) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง และลดการเสื่อมของจอประสาทตา ผลไม้กลุ่มนี้ได้แก่ ฝรั่ง อะโวคาโด แก้วมังกร น้อยหน่า แตงไทย องุ่นเขียว องุ่นม่วง ชมพู่เขียว และแอปเปิ้ลเขียว
3. ผลไม้สีน้ำเงิน / ม่วง
มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin)และกลุ่มโพลิพีนอล (Polyphenol) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันมะเร็งและไขมันอุดตันในหลอดเลือดชะลอความเสื่อมของเซลล์ ผลไม้ในกลุ่มนี้ได้แก่ องุ่นแดง องุ่นม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว ลูกหว้า ลูกไหน และลูกพรุน
4. ผลไม้สีขาว / สีน้ำตาล
มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) หลายชนิดต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า จะพบมากในเนื้อและเปลือกมังคุค ฝรั่ง แก้วมังกรเนื้อขาว และผลไม้อื่นๆ เช่น กล้วย พุทรา ลางสาด เงาะ ลิ้นจี่
5. ผลไม้สีเหลือง / ส้ม
มีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยต้านการอักเสบ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน พบมากในมะม่วงสุด มะละกอสุด กล้วย แคนตาลูปสีเหลือง และสับปะรด